เหรียญหลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว รุ่น 1
"หลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว"อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เดิมชื่อ เพิ่ม พงษ์อำพร เกิดเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 3 ปีจอ ตรงกับวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2429 ณ ต.ไทยวาส อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เป็นบุตรของนายเกิด และนางวัน อาชีพทำสวน เรียนหนังสือขั้นพื้นฐานที่วัดระฆังฯ ฝั่งธนบุรี พออ่านออกเขียนได้ก็ออกมาช่วยบิดามารดาทำสวนอยู่ได้ไม่นานท่านก็นำไปฝากเรียนหนังสือกับ "หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว" เพิ่มเติม พออายุได้ 22 ปี ได้เข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดกลาวงบางแก้ว โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศน์ฯ เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัตเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการลอย เป็นพระกรรมจาจารย์ พระครูทักษิณานุกิจ (ผัน) เป็นพระอนุสาวนาจาร์ ได้รับนามฉายาว่า "ปุญญวสโน" แล้วจำพรรษาอยู่ที่วัดกลางบางแก้ว
หลวงปู่เพิ่มเป็นพระเถระที่ทรงคุณธรรมสูง มักน้อย สันโดษชอบเป็นผู้ให้และรู้จักเสียสละ ที่สำคัญมากก็คือท่านยังเป็นนักพัฒนาอยู่เสมอ วัดจึงมีความเจริญขึ้นเรื่อยๆไม่หยุดนิ่ง นอกจากนั้นยังกตัญญูต่อพระอาจารย์ คือหลวงปู่บุญเป็นชีวิตจิตใจ มีทรัพย์สินส่วนตัวเท่าไหร่ก็อุทิศมอบให้เป็นสมบัติพระศาสนา และได้นำดอกผลเข้าบำรุงวัด ส่วนตัวไม่มีอะไรเหลือเลย เว้นไว้แต่เกียรติคุณความดีงามที่ทำให้ผู้แวะเวียนมาหาต้องกราบไหว้บูชาด้วยความเคารพนับถืออย่างไม่ขาดสาย

เหรียญหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง รุ่น 1
"หลวงปู่เอี่ยม" หรือ "เจ้าคุณเฒ่า" หรือ "พระภาวนาโกศล" (เอี่ยม) ท่านเป็นชาวบางขุนเทียนมาแต่กำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2375 (สมัย ร.3) เป็นบุตรของนายทองและนางอู เมื่อถึง พ.ศ. 2387 โยมทั้งสองได้นำท่านไปฝากเรียนอยู่ที่สำนักวัดหนัง จนถึง พ.ศ. 2397 ท่านจึงทำการอุปสมบท ณ วัดราชโอรส ท่านเคร่งและศึกษาด้านปริยัติธรรมมาก และชั่วระยะหนึ่งท่านก็ย้ายไปอยู่ที่วัดนางนองโดยได้ฝากตัวเป็นศิษย์กับ "หลวงปู่รอด" ซึ่งกำลังเลื่องชื่อมากในด้านวิทยาอาคมขลัง หลวงปู่เอี่ยมได้หันมาสนใจในด้านไสยเวทจนถึงขนาดได้เป็นศิษย์เอกที่พระอาจารย์รักมาก ครั้นต่อมาในปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) "หลวงปู่รอด" ได้ถูกถอดจากสมณะศักดิ์เดิมให้เป็นพระสงฆ์ธรรมดา หลวงปู่รอดจึงได้ย้ายพระอารามไปครองอยู่ที่วัดโคนอน โดยมีหลวงปู่เอี่ยม ตามไปรับใช้อยู่ทีวัดโคนอนด้วยต่อมาไม่นานนักหลวงปู่รอดได้ถึงแก่มรณภาพ หลวงปู่เอี่ยมก็ได้ครองตำแหน่งเจ้าอาวาสปกครองวัดโคนอนสืบแทนพระอาจารย์ต่อไป
เมื่อ พ.ศ. 2441 ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าให้ "หลวงปู่เอี่ยม" ไปครอง "วัดหนัง" ต่อไป และรุ่งขึ้นอีก 1 ปี องค์สมเด็จพระปิยะมหาราชก็ได้พระราชทานสมณศักดิ์ให้แก่หลวงปู่เอี่ยมแห่งวัดหนัง เป็นพระราชาคณะที่ "พระภาวนาโกศล" (เอี่ยม) ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับพระอาจารย์ของท่านนั่นเอง ท่านได้ครองวัดหนังอยู่ถึง 27 ปีเศษ จึงถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2469 รวมอายุได้ 94 ปี
แหล่งอ้างอิง
อรรถภูมิ บุณยเกียรติ.คู่มือนักสะสม.นนทบุรี : พรพิชาการพิมพ์,2556